แดง ๑

Syzygium angkae (Craib) Chantar. et J. Parn. subsp. spissum (Craib) Chantar. et J. Parn.

ไม้ต้นขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ เปลือกนอกสีเทาหรือสีน้ำตาลแดง แตกเป็นร่องตื้นและหลุดล่อนเป็นแผ่น เกลี้ยง ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน เส้นขอบใน ๒ เส้น ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ดอกสีขาวหรือสีเขียวอ่อน กลีบเลี้ยงขอบบางใส กลีบดอกแต่ละกลีบมีต่อม ๓๐- ๕๐ ต่อม ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมแป้นหรือรูปคล้ายทรงกระบอกกว้าง มีกลีบเลี้ยงติดทนที่ ปลายผล สุกสีดำ เปลือกผลเรียบเป็นมันวาว มีเมล็ดน้อย


     แดงชนิดนี้เป็นไม้ต้นขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ สูงได้ ถึง ๑๐ ม. เรือนยอดรูปทรงกลม ค่อนข้างแน่นทึบ ลำต้น เปลาตรง เป็นพอนเล็กน้อย เปลือกนอกสีเทาหรือสีน้ำตาล แดง แตกเป็นร่องตื้นและหลุดล่อนเป็นแผ่น เปลือกในสี น้ำตาลอ่อน กิ่งอ่อนเป็นสันเล็กน้อย เกลี้ยง
     ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปรีแกมรูปขอบ ขนาน กว้าง ๑.๙-๒.๕ ซม. ยาว ๗.๕-๑๑.๕ ซม. ปลายเรียว แหลมหรือยาวคล้ายหาง ยาวได้ถึง ๑.๒ ซม. โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ค่อนข้างเหนียว ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีเขียวอ่อน เรียบและเกลี้ยง ทั้ง ๒ ด้าน มีจุดต่อมกระจายทั่วไป เส้นกลางใบเป็นร่อง ทางด้านบน นูนเด่นทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๒๗- ๓๖ เส้น เส้นใบด้านบนไม่เด่นชัด ปลายเส้นโค้งจดกัน ก่อนถึงขอบใบ เส้นขอบใน ๒ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๔-๘ มม. เกลี้ยง ไม่มีหูใบ
     ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอก ใบและที่ปลายกิ่ง ช่อยาวได้ถึง ๒.๕ ซม. ก้านช่อดอกกลม ยาว ๐.๕-๒.๕ มม. ใบประดับรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๐.๕- ๐.๘ มม. ยาว ๐.๘-๑ มม. ใบประดับย่อยรูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๐.๔ มม. ยาวประมาณ ๐.๖ มม. ดอกสี ขาวหรือสีเขียวอ่อน ก้านดอกยาว ๑-๓ มม. ดอกออก เป็นกลุ่ม กลุ่มละ ๓ ดอก หรือส่วนปลายสุดของช่อดอก ออกเป็นกระจุก ๓ ดอก ฐานดอกรูปแตร ยาว ๓-๕ มม. มีก้านดอกเทียมยาว ๑-๑.๕ มม. กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ สีเขียว รูปครึ่งวงกลม ยาว ๐.๖-๐.๘ มม. ขอบกลีบบางใส กลีบ ดอก ๔ กลีบ แยกกันเป็นอิสระ รูปเกือบกลม ยาว ๒.๕- ๓.๕ มม. แต่ละกลีบมีต่อม ๓๐-๕๐ ต่อม เกสรเพศผู้ จำนวนมาก แยกเป็นอิสระ เกสรที่อยู่รอบนอกยาว ๖-๗ มม. ก้านชูอับเรณูรูปเส้นด้าย อับเรณูรูปขอบขนานแกมรูปรี ยาว ๐.๗-๐.๘ มม. ติดด้านหลัง ปลายแกนอับเรณูยื่น เป็นต่อม รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๖-๙ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปคล้ายเส้นด้าย ยาว ๔-๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มขนาดเล็ก
     ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลม แป้นหรือรูปคล้ายทรงกระบอกกว้าง ยาวประมาณ ๑ ซม. มีกลีบเลี้ยงติดทนที่ปลายผล สุกสีดำ เปลือกผลเรียบเป็น มันวาว มีเมล็ดน้อย
     แดงชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทย ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ พบ ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และตามเขาหินปูน ที่สูง จากระดับทะเล ๖๐๐-๙๕๐ ม. ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเมษายน เป็นผลเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม ในต่าง ประเทศพบที่เมียนมาและลาว.

 

 

 

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
แดง ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Syzygium angkae (Craib) Chantar. et J. Parn. subsp. spissum (Craib) Chantar. et J. Parn.
ชื่อสกุล
Syzygium
คำระบุชนิด
angkae
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- (Craib )
- Chantar. et J. Parn.
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
subsp. spissum
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- (Craib )
- Chantar. et J. Parn.
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (Craib) ช่วงเวลาคือ (1882-1933)
- Chantar. ช่วงเวลาคือ (1955-)
- J. Parn. ช่วงเวลาคือ (1954-)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายสุคิด เรืองเรื่อ
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานพืช อักษร ด กองวิทยาศาสตร์อนุกรมวิธานพืช อักษร ด. pdf.